ภาษาไทยมัธยมศึกษาปีที่ 1 บทที่ 4 โคลงสี่สุภาพ

10/7/56 0 ความคิดเห็น

โคลงสี่สุภาพ เป็นโคลงชนิดหนึ่งที่กวีนิยมแต่งมากที่สุด ด้วยเสน่ห์ของการบังคับวรรณยุกต์เอกโทอันเป็นมรดกของภาษาไทยที่ลงตัวที่สุด
คำว่า สุภาพ หรือ เสาวภาพ หมายถึงคำที่มิได้มีรูปวรรณยุกต์ ประวัติความเป็นมา
โคลงสี่สุภาพ ปรากฏในวรรณกรรมไทย ตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา ปรากฏในมหาชาติคำหลวงเป็นเรื่องแรก[1] และมีวรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ 3 เรื่อง ได้แก่ โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงมังทราตีเชียงใหม่ และลิลิตพระลอ
สมัยอยุธยาตอนกลาง วรรณกรรมที่ใช้โคลงสี่สุภาพ ได้แก่ โครงเรื่องพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม และโคลงราชสวัสดิ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระนายรายณ์มหาราช โคลงเฉลิมพระเกียรติพระนารายณ์มหาราช โคลงนิราศนครสวรรค์ กาพย์ห่อโคลงและโคลงอักษรสามของพระศรีมโหสถ
สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ โคลงนิราศพระบาท โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย และกาพย์ห่อโคลงพระราชนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
สมัยธนบุรี ได้แก่ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี และลิลิตเพชรมงกุฎ
สมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมที่ใช้โคลงสี่สุภาพที่เด่น ๆ ได้แก่ ลิลิตะเลงพ่าย โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศสุพรรณ โคลงโลกนิติ สามกรุง
โคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ที่กวีชอบแต่งและผ่านการพัฒนามายาวนานจนมีฉันทลักษณ์ที่ลงตัวและเป็นแบบฉบับดังที่ยึดถือกันในปัจจุบัน

 ลักษณะบังคับ

๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ xเอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐ (๐ ๐)
หนึ่งบทมี 30 คำ แบ่งเป็น 4 บาท 3 บาทแรกบาทละ 7 คำ บาทที่สี่ 9 คำ แต่ละบาทแบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เว้นบาทสุดท้าย วรรคหลัง 4 คำ มีสร้อยได้ในบาทแรก บาทที่สาม และบาทที่สี่ ส่งสัมผัสจากคำที่ 7 บาทแรกไปยังคำที่ 5 ในบาทที่สองและสาม กับคำสุดท้ายวรรคที่สองไปยังคำที่ 5 บาทที่สี่ บังคับเอก 7 แห่ง โท 4 แห่งดังคำโคลงอธิบายต่อไปนี้
๏ ให้ปลายบาทเอกนั้นมาฟัด
ห้าที่บทสองวัจน์ชอบพร้อง
บาทสามดุจเดียวทัดในที่ เบญจนา
ปลายแห่งบทสองต้องที่หน้าบทหลัง ๚ะ
๏ ที่พินทุ์โทนั้นอย่าพึงพินทุ์ เอกนา
บชอบอย่างควรถวิลใส่ไว้
ที่พินทุ์เอกอย่าจินดาใส่ โทนา
แม้วบมีไม้เอกไม้โทควร ๚ะ
๏ บทเอกใส่สร้อยได้โดยมี
แม้วจะใส่บทตรีย่อมได้
จัตวานพวาทีในที่ นั้นนา
โทที่ถัดมาใช้เจ็ดถ้วนคำคง ๚ะ
๏ บทต้นทั้งสี่ใช้โดยใจ
แม้วจะพินทุ์ใดใดย่อมได้
สี่ห้าที่ภายในบทแรก
แม้นมาทจักมีไม้เอกไม้โทควร ๚ะ
— จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี
คำเอก โท ในบาทแรกของโคลงอาจสลับที่กันได้ และอนุโลมให้ใช้คำตายแทนคำเอกในที่ที่หาคำเอกไม่ได้ แต่ไม่นิยมใช้เอกโทษและโทโทษ ดังกล่าวไว้ในจินดามณี ฉบับหลวงวงศาธิราชสนิท ดังต่อไปนี้
๏ เอกโทเปลี่ยนผลัดได้โดยประสงค์
แห่งที่ห้าควรคงบทต้น
บทอื่นอาจบ่ปลงแปลงแบบ นาพ่อ
เฉภาะแต่บทหนึ่งพ้นกว่านั้นฤๅมี ๚ะ
๏ เอกเจ็ดหายากแท้สุดแสน เข็ญเอย
เอาอักษรตายแทนเทียบได้
โทสี่ประหยัดหนหวงเปลี่ยน
ห่อนจักหาอื่นใช้ต่างนั้นไป่มี ๚ะ
๏ เอกโทผิดที่อ้างออกนาม โทษนา
จงอย่ายลอย่างตามแต่กี้
ผจงจิตรคิดพยายามถูกถ่อง แท้แฮ
ยลเยี่ยงปราชญ์สับปลี้เปล่าสิ้นสรรเสริญ ๚ะ
๏ ใช้ได้แต่ปราชญ์คร้านการเพียร
ปราชญ์ประเสริฐดำเนียรหมิ่นช้า
ถือเท็จท่านติเตียนคำตู่ คำนา
มักง่ายอายอับหน้าอาจถ้อเถียงไฉน ๚ะ
โคลงสี่สุภาพมี 30 คำ เมื่อหัก เอก 7 โท 4 แล้ว ส่วนที่เหลือ 19 คำแม้ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ ในท้ายวรรคทุกวรรคต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์ เพราะจะทำให้น้ำหนักของโคลงเสียไป ได้แก่คำที่กากบาทในแผนผังข้างล่าง
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ X (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ Xเอก โท
๐ ๐ เอก ๐ X๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ X (๐ ๐)
คำสุดท้ายของโคลงนอกจากจะห้ามมีรูปวรรณยุกต์แล้ว กวียังนิยมใช้เพียงเสียงสามัญ หรือ จัตวา เท่านั้น
อนึ่ง เคยมีความเข้าใจกันว่า บาทที่สี่มีสร้อยไม่ได้ แต่หากพิจารณาคำอธิบายการแต่งโคลงในจินดามณีแล้วน่าจะตีความได้ว่าโคลงสี่สุภาพมีสร้อยได้ทุกบาทยกเว้นบาทที่สอง
๏ บทเอกใส่สร้อยได้โดยมี
แม้วจะใส่บทตรีย่อมได้
จัตวานพวาทีในที่ นั้นนา
โทที่ถัดมาใช้เจ็ดถ้วนคำคง ๚ะ
(ถอดความ)วรรคแรก ในบาทแรกนั้น มีคำสร้อยได้วรรคที่สอง และอาจใส่ในบาทที่สามได้อีกวรรคที่สาม และรวมทั้งท้ายคำที่เก้าของบาทที่สี่ด้วยวรรคที่สี่ ในบาทสองที่เหลืออยู่ ให้คงมีเพียงเจ็ดคำ (=ไม่มีสร้อย)
ทั้งนี้มีตัวอย่างโคลงในวรรณกรรมยืนยันได้แก่
๏ ตีอกโอ้ลูกแก้วกลอยใจ แม่เฮย
เจ้าแม่มาเป็นใดดั่งนี้
สมบัติแต่มีในภาพแผ่น เรานา
อเนกบรู้กี้โกฏิไว้จักยา พ่อนา ๚ะ
— ลิลิตพระลอ

๏ จรุงพจน์จรดถ้อยห่างทางกวี
ยังทิวาราตรีไม่น้อย
เทพใดหฤทัยมีมาโนชญ์
เชิญช่วยอวยให้ข้อยคล่องถ้อยคำแถลง เถิดรา ๚ะ
— สามกรุง

 โคลงตัวอย่าง

ตัวอย่างของโคลงสี่สุภาพในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี ที่มีไม้เอกไม้โทตรงตามบังคับ
๏ เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ ๚ะ
— 
ตัวอย่างของโคลงสี่สุภาพในจินดามณี ฉบับหลวงวงศาธิราชสนิท ที่มีไม้เอกไม้โทตรงตามบังคับ
๏ นิพนธ์กลกล่าวไว้เป็นฉบับ
พึงเพ่งตามบังคับถี่ถ้วน
เอกโทท่านลำดับโดยที่ สถิตนา
ทุกทั่วลักษณะล้วนเล่ห์นี้คือโคลง ๚ะ
นอกจากนี้มีโคลงแบบฉบับอีกบทที่มาจากโคลงนิราศนรินทร์ ที่เอกโทครบตรงตำแหน่งเช่นกัน
๏ จากมามาลิ่วล้ำลำบาง
บางยี่เรือราพรางพี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานางเมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้องคล่าวน้ำตาคลอ ๚ะ
— 

สัมผัสระหว่างบท

การแต่งโคลงสี่สุภาพต่อกันหลายๆ บท เป็นเรื่องราวอย่างโคลงนิราศ โคลงเฉลิมพระเกียรติ โคลงสุภาษิต หรือโคลงอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ โคลงสุภาพชาตรี และ โคลงสุภาพลิลิต
  • โคลงสุภาพชาตรี ไม่มีสัมผัสระหว่างบท ส่วนใหญ่กวีนิพนธ์แบบเก่าจะนิยมแบบนี้เป็นส่วนมาก
  • โคลงสุภาพลิลิต มีการร้อยสัมผัสระหว่างบท โดยคำสุดท้ายของบทต้นต้องส่งสัมผัสสระ ไปยังคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ในบทต่อไป
เช่น
1 ๏ บุเรงนองนามราชเจ้าจอมรา มัญเฮย
ยกพยุหแสนยายิ่งแกล้ว
มอญม่านประมวลมาสามสิบ หมื่นแฮ
ถึงอยุธเยศแล้วหยุดใกล้นครา ๚ะ
2 ๏ พระมหาจักรพรรดิเผ้าภูวดล สยามเฮย
วางค่ายรายรี้พลเพียบหล้า
ดำริจักใคร่ยลแรงศึก
ยกนิกรทัพกล้าออกตั้งกลางสมร ๚ะ
3 ๏ บังอรอัคเรศผู้พิศมัย ท่านนา
นามพระสุริโยทัยออกอ้าง
ทรงเครื่องยุทธพิไชยเช่นอุปราชแฮ
เถลิงคชาธารคว้างควบเข้าขบวนไคล ๚ะ
— โคลงภาพเรื่องพระราชพงศาวดาร

คำสร้อย

คำสร้อยซึ่งใช้ในโคลงสี่สุภาพนั้น จะใช้ต่อเมื่อความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้วไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้ "รกสร้อย"
คำสร้อยที่นิยมใช้กันเป็นแบบแผนมีทั้งหมด 18 คำ
  1. พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
  2. แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
  3. พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
  4. เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
  5. เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
  6. นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
  7. นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
  8. บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
  9. รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
  10. ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
  11. เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
  12. ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
  13. แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
  14. ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
  15. แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
  16. อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
  17. เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
  18. เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า
นอกจากนี้มีคำสร้อยที่เรียกว่า "สร้อยเจตนัง" คือสร้อยที่มีความหมาย หรือใช้ตามใจตน ซึ่งไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น