วิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 1 เทอม 1 บทที่ 3 สารละลาย

11/7/56 0 ความคิดเห็น

บทที่ 3 สารละลาย

1. ความหมายสารละลายเเละองค์ประกอบของสารละลาย
สารละลาย (solution) หมายถึง สารเนื้อเดียวที่ไม่บริสุทธิ์ เกิดจากสารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกัน สารละลายแบ่งส่วนประกอบได้ 2 ส่วนคือ
1. ตัวทำละลาย (solvent) หมายถึง สารที่มีความสามารถ ในการทำให้สารต่างๆ ละลายได้ โดยไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกับสารนั้น
2. ตัวละลาย (solute) หมายถึง สารที่ถูกตัวทำละลายละลายให้กระจายออกไปทั่วในตัวทำละลายโดยไม่ทำปฏิกิริยาเคมีต่อกัน
สารละลายมีทั้ง 3 สถานะ คือ สารละลายของแข็ง สารละลายของเหลว และสารละลายแก๊ส
สารละลายของแข็ง หมายถึง สารละลายที่มีตัวทำละลายมีสถานะเป็นของแข็ง เช่น ทองเหลือง นาก โลหะบัดกรี สัมฤทธิ์ เป็นต้น
สารละลายของเหลว หมายถึง สารละลายที่มีตัวทำละลายมีสถานะเป็นของเหลว เช่น น้ำเชื่อม น้ำหวาน น้ำเกลือ น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำอัดลม เป็นต้น
สารละลายแก๊ส หมายถึงสารละลายที่มีตัวทำละลายมีสถานะเป็นแก๊ส เช่น อากาศ แก๊สหุงต้ม ลูกเหม็นในอากาศ ไอน้ำในอากาศ เป็นต้น
ตัวละลายแต่ละชนิดจะใช้ตัวทำละลายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวทำละลายและตัวถูกละลาย ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนั้นจะต้องรวมเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ทำปฏิกิริยาเคมีต่อกัน ตัวอย่างเช่น
เกลือ น้ำตาลทราย สีผสมอาหาร จุนสี สารส้ม กรดเกลือ กรดกำมะถัน ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย
โฟม ยางพารา พลาสติก ใช้น้ำมันเบนซินเป็นตัวทำละลาย
สีน้ำมัน โฟม พลาสติก แลคเกอร์ ใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย
สีน้ำมันใช้น้ำมันสนเป็นตัวทำละลาย
การละลายของสารในตัวทำละลาย
เราสามารถทราบได้ว่าสารละลายแต่ละชนิดนั้นมีสารใดเป็นตัวทำละลายและมีสารใดเป็นตัวละลาย โดยมีวิธีการสังเกตตัวทำละลายและตัวละลายดังนี้
1. ใช้สถานะของสารละลายเป็นเกณฑ์ ถ้าสารละลายนั้นเกิดจากสารที่มีสถานะต่างกันละลายเป็นเนื้อเดียวกัน สารใดที่มีสถานะเดียวกันกับสารละลาย สารนั้นจะเป็นตัวทำละลาย เช่น
น้ำเกลือ ประกอบด้วยน้ำเป็นตัวทำละลายและเกลือเป็นตัวละลาย
น้ำเชื่อม ประกอบด้วยน้ำเป็นตัวทำละลายและน้ำตาลทรายเป็นตัวละลาย
น้ำด่างทับทิม ประกอบน้ำเป็นตัวทำละลายและด่างทับทิมเป็นตัวละลาย
น้ำอัดลม ประกอบด้วยน้ำเป็นตัวทำละลายและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวละลาย

รูปแสดงน้ำอัดลมซึ่งเป็นสารละลาย
2. ใช้ปริมาณของสารแต่ละชนิดเป็นเกณฑ์ ถ้าสารละลายนั้นเกิดจากสารที่มีสถานะเดียวกันละลายเป็นเนื้อเดียวกัน สารใดที่มีปริมาณมากกว่า สารนั้นจะเป็นตัวทำละลาย เช่น
ทองเหลือง ประกอบด้วยทองแดงเป็นตัวทำละลายและสังกะสีเป็นตัวละลาย
นิโครม ประกอบด้วยนิกเกิลเป็นตัวทำละลายและโครเมียมเป็นตัวละลาย
นาก ประกอบด้วยทองแดงเป็นตัวทำละลายและทองคำเป็นตัวละลาย
สัมฤทธิ์ ประกอบด้วยทองแดงเป็นตัวทำละลายและดีบุกเป็นตัวละลาย

รูปแสดงเครื่องดนตรีที่ทำด้วยทองเหลือง
ความเข้มข้นของสารละลาย
ความเข้มข้นของสารละลาย คือ ปริมาณของสารที่เป็นตัวละลายซึ่งละลายอยู่ในสารละลาย
1. ร้อยละ (percent) แบ่งออกเป็นดังนี้
1) ร้อยละโดยมวล (w/w) บอกถึงมวลของตัวละลายที่ละลายในสารละลาย 100 หน่วยมวล เช่น สารละลายน้ำเชื่อมเข้มข้นร้อยละ 10 โดยมวล คือ ในสารละลายน้ำเชื่อม 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำตาล 10 กรัม
2) ร้อยละโดยปริมาตร (v/v) บอกถึงปริมาตรของตัวละลายที่ละลายในสารละลาย 100 หน่วยปริมาตร เช่น สารละลายเอทานอลเข้มข้นร้อยละ 15 โดยปริมาตร คือ ในสารละลาย เอทานอล 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร ประกอบด้วยเอทานอล 15ลูกบาศก์เซนติเมตร
3) ร้อยละโดยมวลต่อปริมาตร (w/v) บอกถึงมวลของตัวละลายในสารละลาย 100 หน่วยปริมาตร เช่น สารละลายเกลือแกง 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร ประกอบด้วยเกลือแกง 1 กรัม
2. ส่วนในพันส่วน (part per thousand ; ppt) เป็นหน่วยที่บอกมวลของตัวละลายที่มีปริมาณน้อย ละลายในสารละลาย หรือตัวทำละลาย 1 พันส่วน
3. ส่วนในล้านส่วน (part per million ; ppm) เป็นหน่วยที่บอกมวลของตัวละลายที่มีปริมาณน้อยมาก ละลายในสารละลายหรือตัวทำละลาย 1 ล้านส่วน (106 ส่วน) เช่น ปลาตัวหนึ่งมีปรอทปลอมปนอยู่ 0.2 ppm หมายความว่า ในเนื้อปลา 1 ล้านกรัม จะมีปรอทอยู่ 0.2 กรัม
4. การบอกความเข้มข้น โดยดูจากปริมาณตัวละลายในสารละลาย แบ่งได้เป็นดังนี้
1) สารละลายเข้มข้น คือ สารละลายที่มีปริมาณตัวละลาย ละลายในสารละลายมาก เมื่อเทียบกับตัวทำละลาย
2) สารละลายเจือจาง คือ สารละลายที่มีปริมาณตัวละลาย ละลายในสารละลายน้อย เมื่อเทียบกับตัวทำละลาย
ตัวอย่างการหาความเข้มข้นของสารละลาย เช่น
ตัวอย่างที่ 1 มีโซเดียมไฮดรอดไซด์ (NaOH) 20 กรัม เติมน้ำจนมีปริมาตรเป็น 200 ลูกบาศก์เซนติเมตร สารละลายนี้เข้มข้นร้อยละเท่าใดโดยปริมาตร
วิธีทำ ในสารละลาย 200 ลูกบาศก์เซนติเมตร มี NaOH 2 กรัม
ในสารละลาย 100 ลูกบาศก์เซนติเมตรมี NaOH (2x100)/200 = 1 กรัม
(ต้องเทียบกับ 100 เพื่อหาร้อยละของตัวละลาย)
ดังนั้น สารละลาย NaOH เข้มข้นร้อยละ 1 โดยมวลต่อปริมาตร
ตัวอย่างที่ 2 มีเอทานอล 20 ลูกบาศก์เซนติเมตร เติมน้ำไป 15 ลูกบาศก์เซนติเมตร สารละลายเข้มข้นร้อยละเท่าใดโดยปริมาตร
วิธีทำ ในสารละลาย 35 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีเอทานอล 20 ลูกบาศก์เซนติเมตร
ในสารละลาย 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีเอทานอล (20x100)/300 = 57.14 ลูกบาศก์เซนติเมตร
ดังนั้น สารละลายเอทานอลเข้มข้นร้อยละ 57.14
การเตรียมสารละลาย
ในการเตรียมสารละลายนั้นจะต้องใช้ปริมาณของตัวทำละลายและตัวละลายให้สอดคล้องกับปริมาณของสารละลายที่ต้องการเตรียม
ตัวอย่างการเตรียมสารละลาย
การนำสารบริสุทธิ์มาทำให้เป็นสารละลาย เช่น การเตรียมสารละลายจุนสีที่มีความเข้มข้น 7 กรัมต่อ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร
วิธีการเตรียมคือ นำจุนสี 7 กรัม ใส่ลงในบีกเกอร์ขนาด 200 ลูกบาศก์เซนติเมตร แล้วเติมน้ำกลั่น 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใช้แท่งแก้วคนให้จุนสีละลายจนหมด

การนำสารละลายที่มีอยู่แล้วมาทำให้เจือจาง เช่น การเตรียมสารละลายจุนสีที่มีความเข้มข้น 5 กรัมต่อ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากสารละลายจุนสีที่มีความเข้มข้น 10 กรัมต่อ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร
วิธีการเตรียมคือ นำสารละลายจุนสีที่มีความเข้มข้น 10 กรัมต่อ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เทลงในบีกเกอร์ขนาด 200ลูกบาศก์เซนติเมตร แล้วเติมน้ำกลั่น 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะได้สารละลายจุนสีที่มีความเข้มข้น 10 กรัมต่อ 200ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือ 5 กรัมต่อ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร

การทำให้เป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นหนึ่งในพันส่วน (part per thousand หรือ ppt)
-----วิธีการเตรียมคือ
1. เตรียมสารละลายที่มีความเข้มข้น 10 กรัมต่อ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร แล้วใส่ไว้ในบีกเกอร์ใบที่ 1
2. นำบีกเกอร์ขนาด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตรมาอีก 3 ใบ ใส่น้ำไว้ใบละ 9 ลูกบาศก์เซนติเมตร
3. นำสารละลายในข้อ 1 มา 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใส่ลงในบีกเกอร์ใบที่ 2 ใช้แท่งแก้วคนให้เข้ากัน
4. นำสารละลายในข้อ 3 มา 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใส่ลงในบีกเกอร์ใบที่ 3 ใช้แท่งแก้วคนให้เข้ากัน
5. นำสารละลายในข้อ 4 มา 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใส่ลงในบีกเกอร์ใบที่ 4ใช้แท่งแก้วคนให้เข้ากันจะได้สารละลายที่มีความเข้มข้นหนึ่งในพันส่วนตามต้องการ

สารละลายอิ่มตัวและสารละลายไม่อิ่มตัว ในการเตรียมสารละลายโดยการนำตัวทำละลายและตัวละลายมารวมกัน เราอาจจะพบเหตุการณ์ดังรูปได้

จากรูป สารละลายน้ำตาลประกอบด้วยน้ำเป็นตัวทำละลายและน้ำตาลเป็นตัวละลาย เมื่อเราค่อยๆ เติมน้ำตาลครั้งละ 1 กรัม ไปเรื่อยๆ พบว่าน้ำตาลจะละลายได้หมด แต่เมื่อเติมน้ำตาลในครั้งสุดท้ายน้ำตาลจะละลายได้ไม่หมด
น้ำตาลยังละลายในสารละลายได้อีกก็ต่อเมื่อสารละลายไม่อิ่มตัวหรือตัวทำละลายสามารถละลายตัวละลายได้อีก
การที่น้ำตาลไม่สามารถละลายต่อได้อีกก็เพราะว่าสารละลายอิ่มตัวหรือตัวทำละลายไม่สามารถละลายตัวละลายได้อีก
สารละลายเข้มข้นและสารละลายเจือจาง สารละลายเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างตัวทำละลายและตัวละลาย อัตราส่วนของตัวทำละลายและตัวละลายจะไม่เท่ากันทำให้เกิดสภาวะของสารดังนี้
1. สารละลายเข้มข้น เป็นสารละลายที่มีปริมาณของตัวละลายอยู่มากในสารละลาย
2. สารละลายเจือจาง เป็นสารละลายที่มีปริมาณของตัวละลายอยู่น้อยในสารละลาย
ตัวอย่างการเปรียบเทียบความเข้มข้นของสาร
สารละลายน้ำเกลือ ประกอบด้วยน้ำ 90 ลูกบาศก์เซนติเมตร และเกลือ 10 กรัม
สารละลายน้ำเกลือ ประกอบด้วยน้ำ 80 ลูกบาศก์เซนติเมตร และเกลือ 20 กรัม
สารละลายน้ำเกลือ ประกอบด้วยน้ำ 70 ลูกบาศก์เซนติเมตร และเกลือ 30 กรัม
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าสารละลายน้ำเกลือ มีความเข้มข้นมากกว่าสารละลายน้ำเกลือ และ และสารละลายน้ำเกลือมีความเข้มข้นมากกว่าสารละลายน้ำเกลือ A
2. ความเข้มข้นของสารละลาย
ความเข้มข้นของสารละลาย
ความเข้มข้นของสารละลายเป็นค่าที่บอกให้ทราบว่าในสารละลายหนึ่งๆ มีปริมาณตัวถูกละลายจำนวนเท่าไหร่ และการบอกความเข้มข้นของสารละลาย สามารถบอกได้หลายวิธีดังนี้
1. ร้อยละ แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.1 ร้อยละโดยมวลต่อมวล(%W/W) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าร้อยละโดยมวล เป็นหน่วยที่บอกมวลของตัวถูกละลายที่มีอยู่ในสารละลาย 100 หน่วยมวลเดียวกัน (กรัม กิโลกรัม) เช่น สารละลายยูเรียเข้มข้นร้อยละ 25 โดยมวล หมายความว่า ในสารละลายยูเรีย 100 กรัม มียูเรียละลายอยู่ 25 กรัม หรือในสารละลายยูเรีย 100 กิโลกรัม มียูเรียละลายอยู่ 25 กิโลกรัม


1.2 ร้อยละโดยปริมาตรต่อปริมาตร(%V/V) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ร้อยละโดยปริมาตร เป็นหน่วยที่บอกปริมาตรของตัวถูกละลายที่มีอยู่ในสารละลาย 100 หน่วยปริมาตรเดียวกัน (ลูกบาศก์เซนติเมตร (cm3) ลูกบาศก์เดซิเมตร (dm3) หรือลิตร) เช่น สารละลายเอทานอลในน้ำเข้มข้นร้อยละ 20 โดยปริมาตร หมายความว่าในสารละลาย 100 cm3 มีเอทานอลละลายอยู่ 20 cm3 เป็นต้น

1.3 ร้อยละโดยมวลต่อปริมาตร(%W/V) เป็นหน่วยที่บอกมวลของตัวถูกละลายที่มีอยู่ในสารละลาย 100 หน่วยปริมาตร (หน่วยของมวลและของปริมาตรจะต้องสอดคล้องกัน เช่น กรัมต่อลูกบาศก์เซ็นติเมตร (g/cm3) กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร (kg/dm3) เป็นต้น) เช่น สารละลายกลูโคสเข้มข้นร้อยละ 30 โดยมวลต่อปริมาตร หมายความว่า ในสารละลาย 100 cm3 มีกลูโคสละลายอยู่ 30 กรัม หรือในสารละลาย 100 dm3 มีกลูโคสละลายอยู่ 30 กิโลกรัม


2. โมลต่อลูกบาศก์เดซิเมตร หรือ โมลาริตี (mol/dm3 or Molarity)
เนื่องจาก 1 ลูกบาศก์เดซิเมตรมีค่าเท่ากับ 1 ลิตร จึงอนุโลมให้ใช้โมลต่อลิตร (mol/l) หรือเรียกว่า โมลาร์ (Molar) ใช้สัญลักษณ์ “M” หน่วยนี้บอกให้ทรายว่าในสารละลาย 1 dm3 มีตัวถูกละลายอยู่ที่โมล เช่น สารละลายโซเดียมคลอไรต์เข้มข้น 0.5 mol/dm3 (0.5 M) หมายความว่าในสารละลาย 1 dm3 มีโซเดียมคลอไรต์ละลายอยู่ 0.5 mol
3. โมลต่อกิโลกรัมหรือโมแลลิตี (mol/kg molality) หน่วยนี้อาจเรียกว่า โมแลล (Molal) ใช้สัญลักษณ์ “m” เป็นหน่วยความเข้มข้นที่บอกให้ทราบว่าในตัวทำละลาย 1 กิโลกรัม (kg) มีตัวถูกละลาย ละลายอยู่กี่โมล เช่น สารละลายกลูโคสเข้มข้น 2 mol/kg หรือ 2 m หมายความว่ามีกลูโคส 2 mol ละลายในน้ำ 1 kg
หมายเหตุ สารละลายหนึ่งๆ ถ้าไม่ระบุชนิดของตัวทำละลาย แสดงว่ามีน้ำเป็นตัวทำละลาย
4. ส่วนในล้านส่วน (ppm) เป็นหน่วยความเข้มข้นที่บอกให้ทรายว่าในสารละลาย 1 ล้านส่วนมีตัวถูกละลาย ละลายอยู่กี่ส่วน เช่น ในอากาศมีก๊าซคาร์บอนมอนออกไซต์ (CO) 0.1 ppm หมายความว่าในอากาศ 1 ล้านส่วน มี CO อยู่ 0.1 ส่วน (เช่น อากาศ 1 ล้านลูกบาศก์เซ็นติเมตร มี CO 0.1 ลูกบาศก์เซนติเมตร)
5. เศษส่วนโมล (mole fraction) เป็นหน่วยที่แสดงสัดส่วนโดยจำนวนโมลของสารที่เป็นองค์ประกอบในสารละลายต่อจำนวนโมลรวมของสารทุกชนิดในสารละลาย
3. สมบัติการเป็นกรด-เบสของสารละลาย
สารละลายกรด - เบส
สมบัติของสารละลายกรด - เบส
     สารละลายกรด (Acid) หมายถึง สารประกอบที่มีธาตุไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ เมื่อละลายน้ำสามารถแตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออน (H+)
     สารละลายเบส (Base) หมายถึง สารประกอบที่ละลายน้ำแล้วแตกตัวให้ไฮดรอกไซด์ไอออน (OH-)
สมบัติของสารละลายกรด
     สารละลายกรดมีสมบัติทั่วไป ดังนี้
     1.  กรดทุกชนิดจะมีรสเปรี้ยว กรดชนิดใดมีรสเปรี้ยวมากแสดงว่ามีความเป็นกรดมาก เช่น กรดแอซีติกที่เข้มข้นมากจะมีรสเปรี้ยวจัด เมื่อนำมาทำน้ำส้มสายชูจะใช้กรดแอซีติกที่มีความเข้มข้นเพียง 5% โดยมวลต่อปริมาตร (กรดแอซีติก 5 กรัม ละลายในน้ำ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร) เพื่อให้มีรสเปรี้ยวน้อยพอเหมาะกับการปรุงอาหาร
     2.  เปลี่ยนสีของกระดาษลิตมัสจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง สำหรับกระดาษลิตมัสเป็นอินดิเคเตอร์ชนิดหนึ่งที่ใช้ทดสอบความเป็นกรดเป็นเบส
     3.  กรดทำปฏิกิริกับโลหะบางชนิด เช่น ทองแดง สังกะสี แมกนีเซียม ดีบุก และอลูมิเนียม ได้แก๊สไฮโดรเจน (H2) เมื่อนำแผ่นสังกะสีจุ่มลงไปในสารละลายกรดเกลือ จะเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ฟองแก๊สไฮโดรเจนผุดขึ้นมาจากสารละลายกรดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ง่าย และเนื่องจากแก๊สไฮโดรเจนเป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศ จึงมีผู้นำปฏิกิริยาดังกล่าวมาใช้เตรียมแก๊สไฮโดรเจน
     นอกจากนี้กรดจะทำปฏิกิริยากับโลหะบางชนิด เช่น ทองคำ ทองคำขาว เงิน ปรอท ได้ช้ามากหรืออาจไม่เกิดปฏิกิริยา
               
     4.  กรดทำปฏิกิริยากับเบสได้เกลือและน้ำ เช่น กรดเกลือทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งเป็นเบส ได้เกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกง ทำปฏิกิริยารหว่างกรดและเบสที่พอดีจะเรียกว่า ปฏิกิริยาสะเทิน
                     5.  กรดสามารถเกิดปฏิกิริยากับหินปูนซึ่งเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเราสามารถทดสอบแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นผ่านแก๊สเข้าไปในน้ำปูนใส (สารละลายของแคลเซียมไฮดรอกไซด์ในน้ำ) ซึ่งจะทำให้น้ำปูนใสขุ่นทันที เนื่องจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ในน้ำปูนใสได้แคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ

                    6.  สารละลายกรดทุกชนิดนำไฟฟ้าได้ดี เพราะกรดสามารถแตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออน (H+)
     7.  กรดทุกชนิดมีค่า pH น้อยกว่า 7
     8.  กรดมีฤทธิ์กัดกร่อนสารต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ถ้ากรดถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน หากกรดถูกเส้นใยของเสื้อผ้า เส้นใยจะถูกกัดกร่อนให้ไหม้ได้ นอกจากนี้กรดยังทำลายเนื้อไม้ กระดาษ และพลาสติกบางชนิดได้ด้วย
สมบัติของสารละลายเบส
     สารละลายเบสมีสมบัติทั่วไป ดังนี้
     1.  เปลี่ยนสีของกระดาษลิตมัสจากสีแดงเป็นสีน้ำเงิน
     2.  เบสทำปฏิกิริยากับกรดจะได้เกลือและน้ำ ตัวอย่างเช่น สารละลายโซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) ทำปฏิกิริยากับกรดเกลือ (กรดไฮโดรคลอริก) จะได้เกลือโซเดียมคลอไรด์ นอกจากนี้สารละลายโซดาไฟสามารถทำปฎิกิริยากับกรดไขมันได้เกลือโซเดียมของกรดไขมัน หรือที่เราเรียกว่า สบู่ (Soap)
     3.  เบสทำปฏิกิริยากับสารละลายแอมโมเนียมไนเดรตได้แก๊สแอมโมเนีย ซึ่งเรานำมาใช้ดมเมื่อเป็นลม
     4.  เบสทุกชนิดมีค่า pH มากกว่า 7 สามารถกัดกร่อนโลหะอลูมิเนียม และสังกะสี ทำให้มีฟองแก๊สเกิดขึ้น
4. สารที่ใช้ในการทำความสะอาด
สารทำความสะอาด
ความหมายของสารทำความสะอาด
   หมายถึง คุณสมบัติในการกำจัดความสกปรกต่างๆ ตลอดจนฆ่าเชื้อโรค
ประเภทของสารทำความสะอาด
    แบ่งตามการเกิด ได้ 2 ประเภท คือ
1. ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพูสระผม ผงซักฟอก สารทำความสะอาดพื้น  เป็นต้น
2. ได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำมะกรูด มะขามเปียก เกลือ เป็นต้น
แบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานเป็นเกณฑ์ แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. สารประเภททำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ สบู่ แชมพูสระผม เป็นต้น
2. สารประเภททำความสะอาดเสื้อผ้า ได้แก่ สารซักฟอกชนิดต่างๆ
3. สารประเภททำความสะอาดภาชนะ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น
4. สารประเภททำความสะอาดห้องน้ำ ได้แก่ สารทำความสะอาดห้องน้ำทั้งชนิดผงและชนิดเหลว  
สมบัติของสารทำความสะอาด
          สารทำความสะอาด เช่น สบู่ แชมพูสระผม สารล้างจาน สารทำความสะอาดห้องน้ำ สารซักฟอก บางชนิดมีสมบัติเป็นกรด บางชนิดมีสมบัติเป็นเบสซึ่งทดสอบได้ด้วยกระดาษลิตมัส
             สารทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์บางชนิดมีสมบัติเป็นกรด สามารถกัดกร่อนหินปูนที่ยาไว้ระหว่างกระเบื้องปูพื้นหรือฝาห้องน้ำบริเวณเครื่องสุขภัณฑ์ ทำให้คราบสกปรกที่เกาะอยู่หลุดลอกออกมาด้วย ถ้าใช้สารชนิดนี้ไปนานๆ พื้นและฝาห้องน้ำจะสึกกร่อนไปด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ใช้เกิดความระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจและผิวหนังอีกด้วย ดังนั้น ในการใช้ต้องระมัดระวังโดยปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดและต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ในปริมาณมากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยทำความสะอาดได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม อาจทำให้สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนสารทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์

5. ความปลอดภัยในการใช้สารในชีวิตประจำวัน
ในปัจจุบันปัญหาทางด้านความปลอดภัยมีบทบาทและความสำคัญกับวัยรุ่นเป็นอย่างมากเนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบเข้าสังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จึงมีปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตหลายรูปแบบ  ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ยา สารเสพติด  ความปลอดภัยในการเดินทาง  อุบัติเหตุจากกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งภัยที่ไม่คาดคิด และการใช้ความรุนแรงในวัยรุ่นที่เป็นปัญหาอย่างมาก  ปัจจัยและพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น เราจึงควรตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี  โดยการสร้างเสริมพฤติกรรมและดำรงรักษาให้เป็นผู้มีภาวะสุขภาพที่ดีตลอดไป
สารเคมีในชีวิตประจำวัน
ในชีวิตประจำวัน เราจะต้องเกี่ยวข้องกับสารหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน สารที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นสารสังเคราะห์และสารธรรมชาติ เช่น สารปรุงรสอาหาร สารแต่งสีอาหาร สารทำความสะอาด สารกำจัดแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ในการจำแนกสารเคมีเป็นพวกๆ นั้นเราใช้
วัตถุประสงค์ในการใช้เป็นเกณฑ์การจำแนก ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. สารปรุงแต่งอาหารู้
1.1 ความหมายสารปรุงแต่งอาหาร
สารปรุงแต่งอาหาร หมายถึง สารปรุงรสอาหารใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีรสดีขึ้น เช่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ และให้รสชาติต่างๆ เช่น
- น้ำตาล ให้รสหวาน
- เกลือ น้ำปลา ให้รสเค็ม
- น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ ให้รสเปรี้ยว
1.2 ประเภทของสารปรุงแต่งอาหาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
2. ได้จากธรรมชาติ เช่น เกลือ น้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก อัญชัน เป็นต้น
1.3 การทดสอบสมบัติของสาร
นอกจากสารปรุงรสอาหารจะช่วยให้อาหารมีรสดีขึ้นแล้วยังมีสมบัติความเป็นกรด เป็นเบสต่างกัน สามารถทดสอบได้โดยนำสารแต่ละชนิดมาแตะบนกระดาษลิตมัส ซึ่งสารบางชนิดทำให้กระดาษลิตมัสสีน้ำเงิน เปลี่ยนเป็นสีแดง สารบางชนิดทำให้กระดาษลิตมัสสีแดงเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แต่บางชนิดไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารที่มีสมบัติเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากแดงเป็นน้ำเงินจัดว่าเป็นสารที่มีสมบัติเป็นเบส ส่วนสารที่สามารถเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงจัดว่าเป็นสารที่มีสมบัติเป็นกรด และสารที่ไม่เปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสเลยจัดเป็นสารที่มีสมบัติเป็นกลาง
เมื่อนำสารปรุงรสอาหารมาทดสอบหาสมบัติความเป็นกรด เป็นเบสสามารถจำแนกได้ว่า
- น้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก น้ำส้มสายชู ซอสมะเขือเทศ มีสมบัติเป็นกรด
- น้ำปลา เกลือ น้ำตาล มีสมบัติเป็นกลาง
- สารปรุงรสอาหารส่วนใหญ่ไม่มีสมบัติความเป็นเบส

ในการจำแนกสมบัติความเป็นกรด เป็นเบสของสารต่าง ๆ นิยมใช้กระดาษลิตมัส แต่ถ้าไม่มีกระดาษลิตมัสสีแดงและสีน้ำเงิน เราสามารถทดสอบโดยใช้สารสกัดจากพืชโดยนำมาบดแล้วเติมน้ำ จากนั้นกรองเอากากออก เอาน้ำสีที่ได้มาใช้ทดสอบกรด-เบส แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสี
นอกจากพืชดังกล่าวแล้วในท้องถิ่นยังอาจมีพืชชนิดอื่นๆ อีกที่ใช้ทดสอบความเป็นกรด-เบสได้ ในการนำพืชมาใช้ทดสอบความเป็นกรด-เบส จะต้องทดสอบและสังเกตสีที่เกิดขึ้นโดยใช้สารที่ทราบแน่ชัดว่าเป็นกรดหรือเป็นเบส เช่น ใช้น้ำมะนาวซึ่งเป็นกรด และสารละลายผงฟูซึ่งเป็นเบสก่อนที่จะนำไปใช้
โดยทั่วไปการทดสอบกรด-เบส ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติก ควรใช้ภาชนะที่เป็นแก้ว เนื่องจากอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งจะทำให้ผลผิดพลาด แต่ถ้าใช้ทดสอบสารที่มีความเป็นกรด-เบสที่อ่อนมากสามารถใช้จานหลุมพลาสติกได้

1.4 ตัวอย่างของสารปรุงแต่งอาหาร
1) น้ำส้มสายชู เป็นสารเคมีที่ใช้ปรุงอาหาร ทำให้สารอาหารมีรสเปรี้ยว มี 2 ชนิด คือ อาจจำแนกได้ดังนี้
1. น้ำส้มสายชูแท้ ได้จากการหมักธัญพืชหรือผลไม้ มีทั้งชนิดกลั่นและชนิดไม่กลั่นสารที่เป็นกรดนั้น จะทำปฏิกิริยากับโลหะด้วย ดังนั้น ภาชนะที่ใส่น้ำส้มสายชูจึงไม่ควรเป็นโลหะหรือกระเบื้อง ควรเป็นภาชนะแก้ว และในการใช้น้ำส้มสายชูแท้หรือน้ำส้มสายชูเทียมที่มีความเข้มข้นมาก ปรุงรสอาหารก็จะเป็นอันตรายแก่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการให้อาหารที่รับประทานมี รสเปรี้ยวกลมกล่อมควรใช้น้ำมะนาวหรือน้ำมะขามเปียกซึ่งได้จากธรรมชาติแทนจะปลอดภัยกว่า

2. น้ำส้มสายชูเทียม ได้จากการนำกรดน้ำส้มมาผสมน้ำเพื่อทำให้เจือจาง (ส่วนน้ำส้มสายชูปลอม ทำมาจากกรดกำมะถันหรือกรดเกลือผสมน้ำให้เจือจาง จึงไม่ควรนำมาใช้ปรุงรสอาหารรับประทาน เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล)
การเลือกซื้อน้ำส้มสายชู
 1. ศึกษาฉลาก ชื่อสามัญทางการค้า เครื่องหมายการค้า เลขทะเบียนอาหาร เครื่องหมายมาตรฐานการค้า ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย วันหมดอายุ ปริมาตรสุทธิ
 2. สังเกตความใสไม่มีตะกอนขวดและฝาขวดของน้ำสมสายชูไม่สึกกร่อน ผลึกสีขาวรูปร่างคล้ายกระดูกของผงชูรส

วิธีการทดสอบน้ำส้มสายชู
 1) นำน้ำสมสายชูที่สงสัยใส่ภาชนะ หยดน้ำยาเยนเชียนไวโอเลตสีม่วงลงไปในน้ำส้มสายชู ถ้าไม่เปลี่ยนสีเป็นน้ำส้มสายชูแท้ ถ้าเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินเป็นน้ำส้มสายชูปลอม หรือใส่ผักชีน้ำสมสายชูแล้วสังเกตการเปลี่ยนสี ถ้าน้ำส้มสายชูปลอมผักชีจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือและจะไหม้อย่างรวดเร็ว
2) น้ำปลา เป็นสารเคมีที่ใช้ปรุงอาหาร ทำให้อาหารมีรสเค็ม มี 2 ชนิด คือ
1. น้ำปลาแท้ ได้จากการหมักปลากับเกลือเป็นเวลานาน จนได้น้ำปลาใส สีน้ำตาลแดง มีกลิ่นคาว ของปลามาก ให้โปรตีนและเกลือสูง
2. น้ำปลาผสม ทำจากกากปลาที่เหลือจากการหมักน้ำปลาแท้ผสมกับน้ำเกลือแต่งสีด้วยน้ำตาล เคี่ยวไหม้ หรือของเหลวที่เหลือจากการผลิตผงชูรส ผสมกับกากปลาที่เหลือจากการหมัก น้ำปลาแท้

การเลือกซื้อน้ำปลา ควรศึกษารายละเอียดต่อไปนี้
1. ต้องมีตราสินค้าและที่อยู่ของผู้ผลิตชัดเจน
2. ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือมาตรฐาน มอก.
3. ระบุวิธีเก็บรักษา
4. ระบุวันที่ผลิต และหมดอายุ
3) ผงชูรส
มีชื่อทางเคมีว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมท (Monosodium glutamate) หรือ เรียกย่อว่า MSG. มีพลึกสีขาวเป็นแท่งคล้ายกระดูก ผลิตจากมันสำปะหลังหรือกากน้ำตาล โดยทั่วไปเชื่อว่าทำให้อาหารอร่อย ยังมีผงชูรสปลอมวางขายตามท้องตลาด ซึ่งผงชูรสปลอมจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรเลือกซื้ออย่างระมัดระวัง
ผงชูรสจะมีลักษณะรูปร่างดังนี้
• เป็นผลึกสีขาวค่อนข้างใส ไม่มีความวาว
 • เป็นแท่งสีเหลี่ยม ไม่เรียบ ปลาข้างใดข้างหนึ่งเล็กคล้ายรูปกระบอง
• เป็นแท่งสีเหลี่ยม ไม่เรียบ แต่ปลายทั้งสองข้างใหญ่คอดตรงกลางคล้ายรูปกระดูก
ผงชูรสมีคุณสมบัติละลายได้ดีในน้ำ ทั้งยังช่วยละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ
มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ สามารถกระตุ้นปุ่มปลายประสาทโคนลิ้นกับลำคอ ทำให้รู้สึกอร่อยขึ้นได้
การทดสอบสารปลอมปน
1) บอแรกซ์
บอแรกซ์ เป็นผลึกค่อนข้างกลม สีขาวขุ่นคล้ายผงชูรสหัก บอแรกซ์มีพิษสะสม ี่กรวยไต และเป็นอันตรายถึงตายถ้าบริโภคเกินกว่า 15 กรัมต่อครั้ง
การตรวจสอบหาบอแรกซ์ในผงชูรส ที่สงสัยประมาณเม็ดถั่วเขียวละลายน้ำ 1 ช้อนกาแฟ แล้วนำกระดาษขมิ้นจุ่มลงไป ถ้าเป็นผงชูรสแท้กระดาษขมิ้นจะไม่เปลี่ยนสี แต่ถ้ามีบอแรกซ์ผสมอยู่กระดาษขมิ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง หรือสีคล้ำทันที ( วิธีทำกระดาษขมิ้นใช้ผงขมิ้นประมาณ 1 ช้อนกาแฟ ผสมอัลกอฮอล์หรือสุราขาวประมาณ 10 ช้อนกาแฟ จะได้น้ำยาสีเหลือง นำกระดาษสีขาวจุ่มลงไป แล้วตากให้แห้งกระดาษจะมีสีเหลืองอ่อน)

2) โซเดียมเมตาฟอสเฟต
โซเดียมเมตาฟอสเฟต เป็นผลึกแท่งเหลี่ยมยาวคล้ายผงชูรสมาก แต่มีลักษณะใสและเรียบกว่า ถ้าบริโภคเข้าไปแล้วจะ เกิดอาการถ่ายท้องอย่างรุนแรง
การตรวจหาโซเดียมเมตาฟอสเฟตในผงชูรส นำผงชูรสที่สงสัยประมาณ 1 ช้อนชา ละลายในน้ำสะอาดประมาณครึ่งแก้ว แล้วใส "น้ำปูนขาวผสมกรดน้ำส้ม" ลงไปประมาณ 1 ช้อนชา ถ้าเป็นผงชูรสแท้จะไม่มีตะกอนเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นผงชูรสที่มีโซเดียมเมตาฟอสเฟตผสมอยู่จะเกิดตะกอนขุ่นขาวทันที ( วิธีทำน้ำยาปูนขาวผสมกรดน้ำส้ม ใช้ปูนขาวประมาณครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำส้มสายชูประมาณ 7 ช้อนโต๊ะ คนให้ทั่วประมาณ 2 - 3 นาที แล้วทิ้งไว้ให้ตะกอนนอนก้นรินเอาน้ำยาใสข้างบนออกมาใช้ น้ำยาใสนี้คือ "น้ำปูนขาวผสมกรดน้ำส้ม"

ข้อแนะนำในการเลือกซื้อและใช้ผงชูรส ควรศึกษารายละเอียดต่อไปนี้

1) ผงชูรสแท้ มี MSG ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 ของน้ำหนักก่อนซื้อโปรดสังเกตภาชนะบรรจุต้องเรียบร้อยไม่มีรอยตำหนิฉลากตัวหนังสือพิมพ์ภาษาไทยชัดเจน และมีข้อความต่อไปนี้
1. ผงชูรสแท้ ชื่อ (ยี่ห้อ)
2. ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต
3. น้ำหนักสุทธิ
4. ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
5. วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ
2) สังเกตลักษณะของเกล็ดผงชูรส
3) ละลายน้ำได้ดี ชิมดูมีรสคล้ายน้ำต้มเนื้อ
4) สีผสมอาหาร
เป็นสารเคมีที่ใช้ปรุงอาหารให้มีสีน่ารับประทาน สีผสมอาหาร
แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. สีที่ได้จากธรรมชาติ ส่วนใหญ่ได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืชและไม่เป็นอันตราย
ต่อร่างกาย ได้แก่ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้และรากไม้ เป็นต้น และยังอาจได้จากสัตว์และแร่ธาตุ
- สีเขียว ได้จาก ใบเตย ใบย่านาง
- สีเหลือง ได้จาก เหง้าขมิ้นชัน ดอกกรรณิการ์ ดอกคำฝอย ยอดเกสร
ตัวเมียของหญ้าฝรั่ง ผลฟักทอง ดอกโสน
- สีแดง ได้จาก ดอกกระเจี๊ยบ ครั่ง ข้าวแดง เมล็ดคำแสด หัวผักกาดแดง
พริกแดง มะเขือเทศ
- สีน้ำเงิน ได้จาก ดอกอัญชัน
- สีดำ ได้จาก กาบมะพร้าว ดอกดิน ขี้เถ้า
- สีม่วง ได้จาก ดอกอัญชัน (โดยเติมน้ำมะนาวลงในน้ำดอกอัญชัน) ผลผักปลังสุก
หัวมันเลือดนก
2. สีที่ได้จากการสังเคราะห์ สำหรับผสมอาหารมีหลายสีหลายชนิด สามารถใช้ ผสมอาหารบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่มักมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขาดความรู้และความรับผิดชอบนำสีย้อมผ้ามาผสมอาหาร อาหารที่ใส่สีย้อมผ้า
เมื่อรับประทานแล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้ผิวหนัง เป็นผื่นแดง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน ชา อ่อนเพลีย เมื่อสีสะสมในร่างกายมาก ๆ อาจเป็นมะเร็งที่กระเพราะอาหาร ลำไส้ กระเพราะปัสสาวะ เป็นโรคโลหิตจาง และโรคเนื้องอกในส่วนต่างๆ ของ ร่างกาย ผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสี จะนำเอาสีย้อมผ้ามาผสมอาหารที่ผลิตขายซึ่งเป็น อันตรายต่อร่างกายของผู้บริโภค

การเลือกซื้อสีผสมอาหาร
1. มีคำว่าสีผสมอาหร
2. ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
3. วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ
4. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต
 5. วิธีใช้
6. ส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณ เป็นร้อยละของน้ำหนักเรียงจากน้อยไปมาก
2. เครื่องดื่ม
เครื่องดื่ม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์จัดเตรียมสำหรับดื่ม และมักจะมี น้ำ เป็นส่วนประกอบหลัก
บางประเภทได้คุณค่าทางโภชนาการ บางประเภทดื่มแล้วไปกระตุ้นระบบประสาท และบาง
ประเภทดื่มเพื่อดับกระหาย แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด น้ำผลไม้ นม น้ำอัดลม
เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ชาและกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
1) น้ำดื่มสะอาด
น้ำดื่มสะอาด เป็นเครื่องดื่มที่ไม่สิ่งอื่นเจือปน เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย ปัจจุบันน้ำดื่มสะอาดได้รับความนิยมมาก ผู้ผลิตมักจะบรรจุน้ำดื่มในขวดใสสะอาดแก้วที่สะอาด เหมาะสำหรับที่จะเสิร์ฟในร้านอาหาร หรือในงานเลี้ยงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักส่วนใหญ่มักจะเลือกเครื่องดื่มชนิดนี้แทนเครื่องดื่มที่มีรสหวานอื่นๆ
2) น้ำผลไม้
น้ำผลไม้เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากอย่างหนึ่ง และต้องเป็นน้ำผลไม้ที่สดๆ จึงจะได้คุณค่ามาก ผู้ผลิตมักจะนำผลไม้ที่มีมากในฤดูกาลมาคั้นเอาแต่น้ำ นำมาเคี่ยวกับน้ำตาล หรือนำผลไม้สดมาปั่นผสมกับน้ำแข็ง น้ำเชื่อม จะได้รสชาติแปลกๆ หลายอย่าง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น